เมื่อเร็วๆนี้ ทาง สถาบันนวัตกรรมอุทยานแห่งชาติ และพื้นที่คุ้มครอง และ โครงการเร่งเสริมความยั่งยืนของระบบจัดการพื้นที่คุ้มครอง หรือมีชื่อย่อว่า CATSPA ภายใต้การสนับสนุนของโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (United Nations Development Program หรือ UNDP) และกองทุนสิ่งแวดล้อมโลก (Global Environment Facility หรือ GEF) ได้จัดการประชุมกลุ่มย่อยพิจาณาร่างแผนระบบพื้นที่คุ้มครอง ซึ่งเสนอโดย Prof. Dr.Jeffrey A.McNeely ที่ปรึกษาโครงการ CATSPA และผู้เชี่ยวชาญด้านสัตว์ ป่าระดับโลก ซึ่งในอดีตท่านได้เคยทำงานร่วมกับ นพ.บุญส่ง เลขะกุล ผู้เชี่ยวชาญด้านสัตว์ป่าของเมืองไทย ซึ่งมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักกันดีในระดับโลก มาเป็นผู้นำเสนอร่างแผนระบบพื้นที่คุ้มครอง โดยมีผู้เชี่ยวชาญจากหลายภาคส่วนมาร่วมแสดงความคิดเห็น แต่ที่น่าสนใจเห็นจะไม่พ้น อ.ศศิน เฉลิมลาภ เลขาธิการมูลนิธิสืบนาคะเสถียร และเครือข่ายสิ่งแวดล้อม นักวิชาการด้านการอนุรักษ์ธรรมชาติ ที่มีชื่อเสียงโด่งดังไปทั่วประเทศ เมื่อครั้งที่ได้เป็นผู้ปลุกกระแสต่อต้านการสร้างเขื่อนแม่วงก์ ซึ่งรัฐบาลได้อนุมัติโครงการ โดยใช้ระยะเวลาก่อสร้าง 8 ปี ภายใต้งบประมาณ 13,280 ล้านบาท
อ.ศศิน เฉลิมลาภ เลขาธิการมูลนิธิสืบนาคะเสถียร และเครือข่ายสิ่งแวดล้อม ได้กล่าวถึงความคืบหน้าของโครงการเร่งเสริมความยั่งยืนของระบบจัดการพื้นที่คุ้มครอง หรือ CATSPA ซึ่งได้มีโอกาสมาร่วมในโครงการนี้ตั้งแต่เริ่มต้น ได้กล่าวว่า “โครงการ CATSPA เป็นงานวิชาการ ดังนั้นเราก็จะไม่เห็นเป้าหมายออกมาอย่างเป็นรูปธรรม เช่น การดูแลพัฒนาพื้นที่ให้ดีมากขึ้น อย่างนี้ไม่ใช่เป็นงานของ CATSPA ผ่านการพัฒนาเป็นระบบ ดังนั้นจึงจะเห็นผลในระยะยาว ดังนั้นในวันนี้ พื้นที่อุทยานหรือเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าที่ได้ถูกจัดเป็นพื้นที่นำร่อง ก็จะได้รับการเสริมประสิทธิภาพเข้าไปตามศักยภาพที่ควรจะได้รับ ซึ่งส่วนนี้เป็นแค่ระบบในเชิงพื้นที่เท่านั้น แต่ในภาพรวมแล้ว โครงการ CATSPA ก็จะช่วยได้ในระยะยาวครับ”
เลขาธิการมูลนิธิสืบนาคะเสถียร ยังได้กล่าวต่อไปอีกว่า “โครงการเร่งเสริมความยั่งยืนของระบบจัด การพื้นที่คุ้มครอง หรือ CATSPA นั้น ประชาชนทั่วไปที่ไม่มีความรู้ ก็จะมีคำถามว่าพื้นที่คุ้มครองนั้นเกี่ยวกับชีวิตของเราอย่างไร ความจริงแล้วพื้นที่คุ้มครองคือต้นทุนที่มีมาตั้งแต่อดีต ขณะเดียวกันก็เป็นเหมือนธนาคารที่เก็บถึงในอนาคต ไม่ว่าจะแป็นเรื่องความมั่นคงทางอาหาร, น้ำ, อากาศ รวมถึงความแปรปรวนของสภาพภัยพิบัติ โดยพื้นที่คุ้มครองส่วนใหญ่ก็คือพื้นที่อุทยานหรือเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า จะ
เป็นตัวปกป้องความปลอดภัยในเรื่องของภัยพิบัติที่จะเกิดขึ้น อาทิ จะไม่ทำให้ดินถล่ม หรือน้ำป่าไหลหลากมากขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ แต่ที่สำคัญก็คือมีขุมทรัพย์ที่จะเป็นของลูกหลานของเราในวันข้างหน้า นั่นก็คือความหลากหลายทางชีวภาพ ที่จะยังคงถูกเก็บรักษาเอาไว้”
สำหรับเรื่องการที่ประชาชนหรือบุคคลทั่วไป จะสามารถให้ความร่วมมือ หรือช่วยเหลือในเรื่องงานอนุรักษ์ได้อย่างไรนั้น ทาง อ.ศศิน ได้บอกว่า “การสนับสนุนเรื่องการอนุรักษ์นั้น คือกระบวนการที่เราจะต้องออกมาแสดงออก เพื่อมาปกป้องพื้นที่คุ้มครองเอาไว้ให้คนทั้งประเทศ ให้สาธารณชน ไม่ว่าจะเป็นพื้นที่ซึ่งเป็นมรดกทางธรรมชาติของโลก เราก็ต้องปกป้องรักษาคุณค่านี้เอาไว้ ดังนั้นมาตรการที่จะต้องดูแลกันก็คือ ทำอย่างไรถึงจะให้คนมาแสดงออกว่าไม่ต้องการให้พื้นที่นี้ถูกทำลายลงไป ซึ่งสามารถทำได้หลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นทาง Social Media, เข้าร่วมในกิจกรรมรณรงค์ต่างๆ หรือแม้แต่การร่วมบริจาคเงินสนับสนุน, การเข้ามาช่วยเหลือในกระบวนการต่างๆ ที่มีผลต่อการอนุรักษ์ เช่น การตั้งกองทุนให้ผู้พิทักษ์ป่า ซึ่งเขาเหล่านี้ต่างก็เป็นคนทำงานจริงที่อยู่ในป่าต่างๆ เหล่านี้ เป็นต้น ครับ”
สำหรับผู้ที่สนใจเรื่องโครงการเร่งเสริมความยั่งยืนของระบบจัดการพื้นที่คุ้มครอง หรือ CATSPA รวมถึงเรื่องการอนุรักษ์ต่างๆ ที่อยู่ภายใต้การดูแลของสถาบันนวัตกรรมอุทยานแห่งชาติ และพื้นที่คุ้มครอง จะสามารถสอบถามรายละเอียดต่างๆ เพิ่มเติมได้ที่ โทรศัพท์ 081-8239941 หรือจะคลิกเข้าไปดูได้ที่เว็บไซต์ www.catspa.org ได้ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป