CSR คืออะไร?
ย่อมาจาก Corporate Social Responsibility หมายถึงการจัดกิจกรรมขององค์กรซึ่งเป็นกิจกรรมที่ไม่ได้แสวงหาผลกำไรไปสู่สิ่งแวดล้อมและสังคม เพื่อแสดงความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน ภายใต้ข้อกำหนด 4 ระดับคือ
ข้อกำหนดตามกฎหมาย (Mandatory Level) คือธุรกิจต้องประกอบกิจการอยู่ภายใต้กฎหมาย เช่น ทำตามกฎหมายแรงงาน
ประโยชน์ทางเศรษฐกิจ (Elementary Level) คือการประกอบการของธุรกิจให้อยู่รอดและมีผลตอบแทนให้ผู้ถือหุ้น โดยกำไรที่ได้ไม่ได้มาจากการเอารัดเอาเปรียบสังคม
จรรยาบรรณทางธุรกิจ (Preemptive Level) คือธุรกิจสร้างผลกำไรให้ผู้ถือหุ้นในจำนวนที่เหมาะสม โดยมีความใส่ใจในการตอบแทนสังคม
ความสมัครใจ (Voluntary Level) หมายถึงธุรกิจมีการดำเนินกิจการควบคู่กับการทำกิจกรรมนี้ด้วยความสมัครใจ โดยเห็นผลประโยชน์ของสังคมเป็นสำคัญ
มีความสำคัญอย่างไร
เป็นความจริงที่ว่าธุรกิจจะประกอบกิจการไม่ได้หากไม่มีสังคมหรือสิ่งแวดล้อมอำนวยให้ธุรกิจดำเนินกิจการได้ เช่น สังคมที่ต้องขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยี ธุรกิจจึงได้มีการพัฒนาสินค้าหรือบริการที่เน้นผลสำเร็จจากเทคโนโลยีเพื่อตอบสนองความต้องการของสังคม เช่น การพัฒนาแอปพลิเคชันของธนาคารเพื่อช่วยอำนวยความสะดวกในการทำธุรกรรมทางการเงินให้กับผู้บริโภค ดังนั้นแม้ว่ากิจกรรมเพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อมที่ธุรกิจจัดตั้งขึ้นจะไม่ใช่เป็นกิจกรรมที่สร้างผลกำไรให้กับธุรกิจโดยตรง แต่ก็คือผลตอบแทนที่ธุรกิจตั้งใจทำให้สังคมเพื่อคืนกำไรให้จากความต้องการที่ถูกขับเคลื่อนด้วยสังคม และไม่ว่าจะเป็นเพราะธุรกิจอยากจัดเองหรือเพราะอยากทำให้ลูกค้าประทับใจก็ตาม แต่อย่างน้อยการทำกิจกรรมเหล่านี้ก็เป็นการประชาสัมพันธ์ภาพลักษณ์ของธุรกิจไปสู่สังคมในวงกว้าง ทำให้ธุรกิจเป็นที่รู้จักมากขึ้น จึงถือเป็นความสำคัญของธุรกิจที่มีกิจกรรมสร้างประโยชน์ต่อสังคมเหล่านี้ ซึ่งจะทำให้ผู้คนรับรู้ถึงแบรนด์ของธุรกิจมากขึ้นด้วย
ตัวอย่างการจัดกิจกรรมของแบรนด์ต่าง ๆ
KTB กับโครงการ กรุงไทยรักเกาะเต่า เป็นโครงการที่ธนาคารกรุงไทยร่วมกับ UNDP มูลนิธิรักษ์ไทยจัดขึ้นในชื่อ Koh Tao, Better Together ที่เป็นการระดมทุนผ่าน QR E-Donation เพื่อสร้างอาชีพให้กับคนในชุมชนเกาะเต่าโดยการจ้างชาวเรือทำความสะอาดชายหาด และปลูกจิตสำนึกให้รักสิ่งแวดล้อม
Starbuck กับโครงการ Coffee and Farmer Equity (C.A.F.E.) ซึ่งเป็นโครงการส่งเสริมเกษตรกรในการเพิ่มคุณภาพของสินค้า รับผิดชอบต่อเศรษฐกิจและจัดการเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม โดยกาแฟทุกแก้วต้องได้มาตรฐานด้านคุณภาพ ไปจนถึงสร้างสภาพแวดล้อมในการทำงานที่ดี ให้มีความปลอดภัยและยุติธรรม
BMW กับโครงการ The Schools Environmental Education Development Project คือการให้ความรู้ด้านสิ่งแวดล้อมและพัฒนาการศึกษาในสถาบันการศึกษา เช่น BMW Scholars หรือ Livelihood for Youth เป็นต้น
จะเห็นได้ว่า โครงการ CSR ไม่ได้ให้กำไรต่อแบรนด์โดยตรง แต่ผลพลอยได้ที่ธุรกิจเลือกทำกิจกรรมเหล่านี้ก็คือภาพลักษณ์ของแบรนด์จะติดอยู่ในใจของผู้บริโภคในระยะยาว ถือเป็นการพัฒนาธุรกิจให้มีความมั่นคงและยั่งยืน
ที่มาข้อมูล
https://www.dashmv.com/what-is-csr/
https://www.popticles.com/branding/examples-of-csr-project/