สมาคมสินแร่-ธรณีวิทยาฯ ร่วมถกโค้งสุดท้ายแผนแม่บทบริหารจัดการแร่ฉบับ 2 ก่อนเปิดรับฟังความคิดเห็นก่อนสิ้นปีเผยทุกฝ่ายเห็นพ้องต้องเขียนให้ชัดเพื่อง่ายต่อการปฏิบัติเชื่ออุตสาหกรรมเหมืองแร่ร่วมทางเดินกับเกษตรกรรมได้
ดร.วิจักษ์ พงษ์เภตรา นายกสมาคมสินแร่และวัสดุก่อสร้างและ ดร.สมหมาย เตชวาล นายกสมาคมธรณีวิทยาแห่งประเทศไทยได้ร่วมจัดการเสวนาเรื่อง “โค้งสุดท้าย...ความเห็นก่อนตกผลึกแผนแม่บทแร่ ฉบับที่ 2” ณ อาคารเภตรา ถนนรัชดาภิเษก เมื่อวันที่ 17 ธันวาคม 2564 ที่ผ่านมาโดยมีวิทยากรที่เข้าร่วมการเสวนาทางระบบ Zoom Meeting ประกอบด้วย ผศ.ดร.ฐิติศักดิ์ บุญปราโมทย์ อดีตหัวหน้าภาควิชาวิศวกรรมเหมืองแร่และปิโตรเลียม คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ดร.เพชญ์ ภัคโชตานนท์ภาควิชาวิศวกรรมเหมืองแร่และปิโตรเลียมคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยนายโองการ ยาสิงห์ทองนายช่างสำรวจอาวุโสสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม(ส.ป.ก.) จังหวัดร้อยเอ็ดและนายพรสิทธิ์ ด่านวนิช กรรมการสมาคมสินแร่และวัสดุก่อสร้าง
ผศ.ดร.ฐิติศักดิ์ บุญปราโมทย์ กล่าวว่าสังคมไม่ค่อยเห็นต้นทางการทำเหมือง เห็นแต่ปลายทางที่เป็นผลผลิตจึงไม่เข้าใจปัญหาที่แท้จริงปัญหาการจัดสรรพื้นที่ที่จำกัด พื้นที่ทำเหมืองน้อยมากเมื่อเทียบกับพื้นที่ทำการเกษตรทั่วประเทศสังคมมองว่าเหมืองแร่เป็นแค่ประโยชน์ต่อคนกลุ่มเล็กแต่แท้จริงนั้นผลผลิตจากเหมืองเป็นประโยชน์ต่อคนกลุ่มใหญ่ความจริงเหมืองแร่เป็นกิจกรรมชั่วคราวเมื่อทำเสร็จแล้วสามารถกลับคืนสู่สังคมเป็นแหล่งน้ำเป็นพื้นที่ป่าไม้ได้
การกำหนดพื้นที่แหล่งแร่เมื่อแร่หมดเอาไปทำอย่างอื่นได้เป็น Positiveแต่ตอนนี้สงวนเอาไว้ไม่กำหนดให้ชัดเจนกลายเป็น Negativeเมื่อเกิดกิจกรรมแร่จะเกิดผลทวีคูณเกิดการกระจายรายได้ การจ้างงาน เกิดการพัฒนาพื้นที่ต้องมีมาตรการดูแลผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมแผนแม่บทการบริหารจัดการแร่ต้องชัดเจนแต่ตอนนี้ยังไม่ชัดเจน
อดีตหัวหน้าภาควิชาวิศวกรรมเหมืองแร่และปิโตรเลียมกล่าวด้วยว่าการบริหารจัดการแร่ต้องแบ่งเป็น 3 ช่วงคือ 1.ก่อนทำเหมือง มีการกำหนดพื้นที่แหล่งแร่เพื่อการทำเหมือง2.ระหว่างทำต้องวางมาตรการควบคุมด้านสิ่งแวดล้อมจัดสรรประโยชน์ที่เป็นรูปธรรม3.ภายหลังปิดเหมืองต้องกำหนดอนาคตล่วงหน้าว่าจะคืนสู่สังคมอย่างไรจะเป็นแหล่งน้ำ แหล่งท่องเที่ยว หรืออื่นใด
“แร่จะมีประโยชน์และมีคุณค่าในขณะที่โลกต้องการเมื่อเทคโนโลยีเปลี่ยนแปลงไปมีผลให้ความต้องการเปลี่ยนแร่นั้นก็อาจไร้ค่าดังนั้นต้องเปลี่ยนมุมมองวิธีคิดในเรื่องการอนุรักษ์ทรัพยากรแร่เอาไว้นานๆเพื่อให้คนรุ่นหลังใช้”ผศ.ดร.ฐิติศักดิ์กล่าว
ดร.เพชญ์ ภัคโชตานนท์ กล่าวว่าการทำเหมืองแร่มักจะมีปัญหาด้านฝุ่นละอองซึ่งส่งผลต่อสุขภาพทั้งคนในเหมืองและชุมชนรอบด้านได้เคยศึกษากรณีตัวอย่างการขนส่งถ่านหินพบว่าหากมีการบริหารจัดการที่ดีก็สามารถลดผลกระทบเหล่านี้ได้มากอาทิ การสเปรย์น้ำจะช่วยลดปัญหาฝุ่นลงได้มากถึง 90%หรือการปลูกต้นไม้ก็สามารถช่วยลดปัญหาการพัดพาฝุ่นลงได้
เหมืองแร่ต้องให้ความสำคัญเรื่อง Biodiversity management หรือการบริหารจัดการความหลากหลายทางชีวภาพคือการป้องกันความเสียหายและลดผลกระทบเชิงลบต่อความหลากหลายทางชีวภาพเหมืองหลายแห่งสามารถยกระดับงานฟื้นฟูเหมืองควบคู่กับการอนุรักษ์ได้เป็นอย่างดีเช่นบางแห่งมีการนำน้ำในเหมืองกลับมาใช้ใหม่โดยไม่มีปัญหา บางแห่งมีการจัดตั้งศูนย์เรียนรู้ชุมชนหรือศูนย์กีฬาเพื่อสุขภาพ
นายโองการ ยาสิงห์ทองซึ่งมีความใกล้ชิดเกษตรกรให้ความเห็นว่าควรมีการกำหนดให้ชัดเจนเรื่องการทำเหมืองหลังจากทำเหมืองแล้วจะมีสภาพเป็นอย่างไรหากมีหลักธรรมาภิบาลมีหลักคุณธรรมเปิดโอกาสให้ชุมชนมีส่วนร่วมมากขึ้นเชื่อว่าอุตสาหกรรมเหมืองแร่กับภาคการเกษตรสามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างดีเพราะเหมืองจะช่วยสร้างงาน สร้างรายได้แก่ชุมชนนอกจากงานและรายได้ในภาคเกษตร
เหมืองที่จังหวัดศรีสะเกษพิสูจน์ให้เห็นว่าเอาน้ำจากเหมืองมาช่วยภาคเกษตรได้ถ้าบริหารจัดการให้ดีเหมืองจะเป็นแหล่งน้ำแหล่งพักผ่อนหย่อนใจหรือแหล่งท่องเที่ยวได้ที่เขียนไว้ในร่างแผนฯ2 ว่าจะมั่งคั่ง ยั่งยืนนั้นยังกว้างเกินไปดูแล้วยังขาดความชัดเจน
นายพรสิทธิ์ ด่านวนิช กล่าวในฐานะผู้ประกอบการเหมืองว่าความไม่ชัดเจนในนโยบายการจำแนกพื้นที่เพื่อการทำเหมืองทำให้ภาคเอกชนต้องรอเวลามานานหลายปีความจริงแล้วผู้ประกอบการเหมืองที่ดีมีความตั้งใจทุ่มเทให้กับชุมชนใกล้เคียงมากการที่ต้องบริหารจัดการผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมนั้นไม่ได้คิดว่าเป็นภาระหรือเพิ่มต้นทุนปัจจุบันผู้ประกอบการต่างเห็นพ้องว่าเป็นความรับผิดชอบต่อสังคมเช่นเดียว กับการดูแลคุณภาพชีวิตของคนในชุมชน
อนึ่ง คณะทำงานจัดทำแผนแม่บทการบริหารจัดการแร่ กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ กระทรวงอุตสาหกรรม มีกำหนดจัดประชุมเวทีสาธารณะ(Public Hearing) เพื่อรับฟังความคิดเห็นต่อร่างแผนแม่บทการบริหารจัดการแร่ ฉบับที่ 2(พ.ศ.2565-2569) ในวันอังคารที่ 21 ธันวาคม 2565 เวลา 09.00-12.00 น. ผ่านโปรแกรม Zoom Meeting